ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา
- Kratay Sagaoduen
- 8 มิ.ย. 2565
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 24 มิ.ย. 2565

1. รวบรวมพยานหลักฐาน
ขั้นตอนแรกควรเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อส่งมอบให้กับทนายความ โดยเริ่มตั้งแต่หลักฐานการสนทนาผ่านโปรแกรมเฟซบุ๊คหรือไลน์ มือถือ หรืออีเมล์ รูปถ่าย เอกสารต่างๆที่ทำขึ้นระหว่างกันทั้งหมด และข้อมูลของจำเลย ต่างๆ เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชนของคู่กรณี หลักฐานการโอนเงิน และทุกๆอย่างที่เกี่ยวข้องที่มีความสำคัญ
ซึ่งควรจะต้องเก็บหลักฐานต่างๆให้เร็วที่สุดเนื่องจากหากไม่รีบเก็บหลักฐานไว้โดยเร็ว หลักฐานต่างๆอาจจะสูญหายซึ่งยากแก่การกู้คืนหรือติดตามในภายหลังได้ และเมื่อรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้ปริ๊นท์ หรือแคปข้อมูลเก็บไว้เพื่อความสะดวกแก่การมอบให้ทนายความตรวจสอบ และใช้เป็นพยานหลักฐาน
2. ปรึกษาทนายความ
การปรึกษาทนายความจะมีการสอบข้อเท็จจริงระหว่างทนายความกับลูกความ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การนั่งพูดคุยกันต่อหน้าหรือพูดคุยกันทางโทรศัพท์ หรือแชททางไลน์หรือวีดีโอคอล หรือแชททางอีเมล์ เป็นต้น
โดยในการปรึกษาทนายความ ให้คุณเตรียมเอกสารหลักฐานต่างๆ มอบให้ทนายความเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคุณควรส่งเอกสารหลักฐานให้ทนายความล่วงหน้าก่อนเข้ามาปรึกษาทนายความเพื่อให้ทนายความศึกษาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆก่อน เมื่อพูดคุยกันจะได้ประหยัดเวลาของทั้งสองฝ่าย ซึ่งในการแจ้งข้อเท็จจริงกับทนายความ คุณควรเล่าความจริงทุกอย่าง ไม่ควรบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะหากคุณบิดเบือนหรือปิดบังข้อเท็จจริงกับทนายความ อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อรูปคดีของคุณ เมื่อความจริงปรากฏในภายหลัง
ทนายความมีหน้าที่รักษาข้อมูลความลับของลูกความ และไม่มีสิทธินำเรื่องที่คุณเล่ามาไปเปิดเผยให้ผู้อื่นได้
ดังนั้น คุณควรบอกความจริงทั้งหมดให้แก่ทนายความเพื่อจะได้หาแนวทางแก้ไข ซึ่งทนายความจะให้คำปรึกษากับคุณว่าเรื่องที่ปรึกษาเป็นคดีอาญาหรือไม่ เนื่องจากบางครั้งความผิดอาญากับการโต้แย้งสิทธิทางแพ่งมีความใกล้เคียงกันเป็นอย่างมากในการดำเนินคดี ซึ่งทนายความจะต้องสอบข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆให้ชัดเจนว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาจริง ทนายความจึงจะฟ้องคดีอาญา แต่หากทนายความเห็นว่าพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ทนายความก็ช่วยสืบหาข้อมูล และเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป
ในการฟ้องคดีอาญาผู้เสียหายจะต้องมั่นใจว่าจำเลยกระทำผิดจริง และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา ซึ่งหากไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว ศาลจะพิพากษายกฟ้อง ซึ่งจะทำให้ตัวความเสียเวลาและเสียเงินและมีความเสี่ยงที่ทนายความและตัวความจะถูกฟ้องกลับด้วย ซึ่งหากทนายความตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ไม่ได้เป็นคดีอาญา ทนายความก็จะแนะนำให้ดำเนินคดีแพ่งหรือใช้สิทธิในทางอื่นๆ ตามกฎหมายต่อไป
3. ดำเนินการยื่นฟ้อง
เมื่อทนายความรวบรวมพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดอาญาจริง ทนายความก็จะฟ้องร้องดำเนินคดีต่อศาล โดยใช้เวลาในการจัดทำคำฟ้องแล้วแต่กรณีตามความซับซ้อนของข้อเท็จจริง ซึ่งในคดีอาญาส่วนใหญ่ ตัวความสามารถยื่นฟ้องต่อศาลเองได้โดยตรง หรือใช้วิธีแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องต่อไป แต่หากคดีที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ตัวความจะไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีเองได้
ภายหลังจากนั้นทนายความจะยื่นฟ้องต่อศาล ซึ่งศาลจะนัดไต่สวนมูลฟ้องภายหลังจากที่ทนายความได้ยื่นคำฟ้องประมาณ 2-3 เดือน โดยในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ฝ่ายตัวความจะต้องเตรียมพยานหลักฐานไปให้พร้อม โดยทนายความจะนัดหมายเพื่อซักซ้อมการถามตอบข้อซักถามต่างๆ และแนวคำถามค้านและแนวทางการดำเนินคดีก่อนขึ้นศาล ซึ่งในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง หากมีความจำเป็นต้องใช้พยานบุคคล พยานเอกสาร หรือพยานวัตถุใดๆที่ตัวความ ไม่สามารถนำมาศาลด้วยตนเองได้ ทนายความก็จะขอหมายเรียกจากศาล เพื่อให้มีพยานหลักฐานครบถ้วนพร้อมในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
4. ขึ้นศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง
ในวันขึ้นศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ตัวความที่เป็นโจทก์ควรไปศาลพร้อมกับทนายความ เพื่อเล่าเรื่องราวและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้กับศาลได้รับฟังรวมทั้งแสดงพยานหลักฐานต่างๆให้ศาลเห็น
โดยทนายความจะสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ โดยลูกความมีหน้าที่จะต้องเบิกความอธิบายต่อศาลว่าที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดนั้นจำเลยมีพฤติการณ์อย่างไรบ้าง เช่น รู้จักจำเลยได้อย่างไร รู้จักจำเลยตั้งแต่เมื่อใด จำเลยกระทำผิดอะไร จำเลยกระทำผิดอย่างไร จำเลยทำให้เสียหายอย่างไร โดยหากมีพยานบุคคล หรือเอกสารหลักฐานอื่นๆที่ลูกความนำมาศาลเองไม่ได้ ทนายความก็จะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลและเอกสารหลักฐานต่างๆมาใช้เป็นพยานหลักฐานในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อศาลได้เห็นพยานหลักฐานและฟังคำเบิกความของโจทก์แล้วเห็นว่า คดีที่ฟ้องมีมูล เนื่องจากพยานหลักฐานเบื้องต้นน่าเชื่อถือ ศาลก็จะมีคำสั่งว่า คดีของโจทก์มีมูล และประทับรับฟ้องคดี โดยศาลศาลจะออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาล เพื่อทำการสอบคำให้การว่าจำเลยจะปฏิเสธหรือรับสารภาพต่อไป แต่หากศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูล ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องโจทก์
5. นัดสอบคำให้การ-สืบพยาน
เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ภายหลังจากนั้นศาลก็จะออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลเพื่อทำการสอบคำให้การว่า จำเลยจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยก็จะเจรจากันเรื่องการคืนเงินชดใช้ค่าเสียหาย เช่น จำเลยอาจขอผ่อนชำระค่าเสียหาย 3 ล้านบาท โดยขอผ่อน 10 เดือนในอัตราเดือนละ 300,000 บาท โดยหากสามารถตกลงกันได้ ศาลก็จะบันทึกข้อตกลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาของศาล และศาลก็จะเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาออกไปก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลง และเมื่อจำเลยชำระหนี้จนครบตามข้อตกลงแล้วเราก็สามารถถอนฟ้องคดีต่อศาลได้ ซึ่งคดีก็จะจบกันไป
แต่หากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลง ทนายความโจทก์ก็จะแถลงต่อศาลว่า จำเลยไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงและขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จากนั้นศาลก็จะนัดหมายจำเลยมาฟังคำพิพากษาและลงโทษจำคุกจำเลยต่อไป แต่โดยส่วนใหญ่จำเลยไม่อยากติดคุกอยู่แล้ว จำเลยจึงมักจะหาเงินมาชำระหนี้ แต่ถ้าจำเลยให้การต่อสู้คดี ศาลก็จะนัดสืบพยานต่อไป ซึ่งคุณก็ต้องไปเบิกความอธิบายเรื่องราวที่ศาลในชั้นพิจารณาคดีต่อไป ภายหลังจากนั้นศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดต่อไป
Comentarios